๑ นิทานเรื่อง
นกแขกเต้าสองตัว
มีนิทานชาดกท่านยกมา พระศาสดาทรงเล่าแก่เหล่าสงฆ์
ว่าครั้งหนึ่งนานสุดพระพุทธองค์ บวชอยู่พงไพรศรีเป็นชีบา
ยังมีนกแขกเต้าแต่เก่าก่อน ปีกยังอ่อนอาศัยอยู่ในป่า
ถูกลมหมุนชื่อมณฑสิกา มันพัดพาลูกนกไปตกไกล
ตัวหนึ่งไปตกลงในดงโจร มันตะโกนก้องด่าประสาไพร่
คำก็ปล้นคำก็ฆ่าอย่าเอาไว้ นกจึงได้จำมาภาษาโจร
นกตัวหนึ่งตกไปอยู่ในร่ม พระอาศรมชีป่าดูผ่าโผน
จะพูดจาว่าวอนก็อ่อนโยน มันจึงโพนทะนาคำที่น้ำนวล
ตัวที่อยู่กับโจรตะโกนก้อง เขาเรียกร้องชื่อนามเป็นคำห้วน
ชื่อสัสสตีคุมพะจะประมวล แปลว่าทวนว่าหอกบอกสันดาน
ตัวอยู่กับฤาษีพระชีป่า มันชื่อว่าบุปผกาวาจาหวาน
แปลว่าดอกไม้งามตามตำนาน ท่านเรียกขานสมความนามกร
วันหนึ่งพระราชาปัญจาละ เสด็จประพาสไพรในสิงขร
พลัดกับพวกพหลพลนิกร เข้าไปนอนในพงของดงโจร
ฝ่ายเจ้านกแขกเต้าชื่อเจ้าทวน วาจาห้วนหยาบช้าเหมือนตาโขน
มันเห็นพระราชาก็ด่าตะโกน “ประเดี๋ยวโดนฆ่าฟันชีพบรรลัย”
พระเจ้าปัญจาละตื่นตระหนก ได้ยินนกมันด่าวาจาไพร่
จึงรีบหนีหน้าลับไปฉับไว ไปอาศัยกุฎีพระชีบา
นกแขกเต้าฤาษีวจีเสนาะ พูดไพเราะอ่อนหวานปานบุปผา
“ท่านข้ามดงข้ามดอนเหนื่อยอ่อนมา เชิญพักพาอาศัยให้สบาย”
พระเจ้าปัญจาละฟังตระหนัก พระนึกรักนกอยู่ไม่รู้หาย
ถามฤาษีผู้เฒ่าเป็นเจ้านาย ท่านภิปรายความเก่าเล่าให้ฟัง
ว่าเจ้านกป่าโจรตะโกนก้อง มันเกิดท้องเดียวกันในชั้นหลัง
พ่อแม่เดียวกันแท้มาแต่ครั้ง มันแตกรังหลงมาเพราะพายุ
ไอ้นกในป่าโจรตะโกนก้อง เขาเรียกร้องไอ้หอกออกจะดุ
ติดนิสัยโจรป่าบ้ามุทะลุ เหมือนไฟคุร้อนรุ่มสุมทรวงใน
แต่ตัวนี้ดีจังชอบฟังเทศน์ น้ำใจเมตตานักมันรักใคร
เหมือนดอกไม้บานแย้มแฉล้มไพร จึงตั้งให้ชื่อว่าบุปผางาม
อยู่กับใครก็เป็นเช่นคนนั้น ก็เหมือนกันกับมนุษย์สุดจะห้าม
ลูกศิษย์เป็นเช่นครูทุกผู้นาม
สัตว์เป็นตามเจ้าของครอบครองมัน
หัวหน้าโจรใจฉกาจกลับชาติมา เป็นครูบาเทวทัตบัดนี้นั่น
พระฤาษีกลับชาติปัจจุบัน คือตัวฉันเกิดมาตถาคตฯ
(๓๒ คำ)
๑๓
ธันวาคม ๒๕๓๒
·
นกแขกเต้าพูดได้
คือทราบจากเจโตปริยญาณ ญาณหยั่งทราบจิตเจตนาสัตว์ของพระพุทธเจ้า