วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

๑. นิทานเรื่อง นกแขกเต้าสองตัว



๑ นิทานเรื่อง 
นกแขกเต้าสองตัว

มีนิทานชาดกท่านยกมา          พระศาสดาทรงเล่าแก่เหล่าสงฆ์
ว่าครั้งหนึ่งนานสุดพระพุทธองค์         บวชอยู่พงไพรศรีเป็นชีบา

ยังมีนกแขกเต้าแต่เก่าก่อน               ปีกยังอ่อนอาศัยอยู่ในป่า
ถูกลมหมุนชื่อมณฑสิกา                  มันพัดพาลูกนกไปตกไกล

ตัวหนึ่งไปตกลงในดงโจร                 มันตะโกนก้องด่าประสาไพร่
คำก็ปล้นคำก็ฆ่าอย่าเอาไว้               นกจึงได้จำมาภาษาโจร

นกตัวหนึ่งตกไปอยู่ในร่ม                 พระอาศรมชีป่าดูผ่าโผน
จะพูดจาว่าวอนก็อ่อนโยน                มันจึงโพนทะนาคำที่น้ำนวล

ตัวที่อยู่กับโจรตะโกนก้อง                เขาเรียกร้องชื่อนามเป็นคำห้วน
ชื่อสัสสตีคุมพะจะประมวล                แปลว่าทวนว่าหอกบอกสันดาน

ตัวอยู่กับฤาษีพระชีป่า                     มันชื่อว่าบุปผกาวาจาหวาน
แปลว่าดอกไม้งามตามตำนาน           ท่านเรียกขานสมความนามกร


วันหนึ่งพระราชาปัญจาละ                เสด็จประพาสไพรในสิงขร
พลัดกับพวกพหลพลนิกร                 เข้าไปนอนในพงของดงโจร

ฝ่ายเจ้านกแขกเต้าชื่อเจ้าทวน          วาจาห้วนหยาบช้าเหมือนตาโขน
มันเห็นพระราชาก็ด่าตะโกน              “ประเดี๋ยวโดนฆ่าฟันชีพบรรลัย”

พระเจ้าปัญจาละตื่นตระหนก             ได้ยินนกมันด่าวาจาไพร่
จึงรีบหนีหน้าลับไปฉับไว                 ไปอาศัยกุฎีพระชีบา

นกแขกเต้าฤาษีวจีเสนาะ                 พูดไพเราะอ่อนหวานปานบุปผา
“ท่านข้ามดงข้ามดอนเหนื่อยอ่อนมา   เชิญพักพาอาศัยให้สบาย”

พระเจ้าปัญจาละฟังตระหนัก             พระนึกรักนกอยู่ไม่รู้หาย
ถามฤาษีผู้เฒ่าเป็นเจ้านาย               ท่านภิปรายความเก่าเล่าให้ฟัง


ว่าเจ้านกป่าโจรตะโกนก้อง               มันเกิดท้องเดียวกันในชั้นหลัง
พ่อแม่เดียวกันแท้มาแต่ครั้ง              มันแตกรังหลงมาเพราะพายุ

ไอ้นกในป่าโจรตะโกนก้อง               เขาเรียกร้องไอ้หอกออกจะดุ
ติดนิสัยโจรป่าบ้ามุทะลุ                   เหมือนไฟคุร้อนรุ่มสุมทรวงใน

แต่ตัวนี้ดีจังชอบฟังเทศน์                 น้ำใจเมตตานักมันรักใคร
เหมือนดอกไม้บานแย้มแฉล้มไพร      จึงตั้งให้ชื่อว่าบุปผางาม

อยู่กับใครก็เป็นเช่นคนนั้น                ก็เหมือนกันกับมนุษย์สุดจะห้าม
ลูกศิษย์เป็นเช่นครูทุกผู้นาม             สัตว์เป็นตามเจ้าของครอบครองมัน


หัวหน้าโจรใจฉกาจกลับชาติมา         เป็นครูบาเทวทัตบัดนี้นั่น
พระฤาษีกลับชาติปัจจุบัน                 คือตัวฉันเกิดมาตถาคตฯ 

                                                                
                                                                      (๓๒ คำ)

๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๒


·        นกแขกเต้าพูดได้ คือทราบจากเจโตปริยญาณ ญาณหยั่งทราบจิตเจตนาสัตว์ของพระพุทธเจ้า





นิทานสัทธรรมคดี (คำแนะนำ)




นิทานสัทธรรมคดี

โดย เทพ สุนทรศารทูล




คำแนะนำ

นิทานสัทธรรมคดี คือนิทานสัจธรรมคดี แปลว่า เล่าเรื่องจริงให้ฟัง  ในภาษาบาลีนั้น ถ้าคำสมาสต่อท้ายขึ้นต้นด้วยตัว ธ. คำท้ายของคำนั้นต้องเป็นอักษร ท.  คำว่า “สัจธรรม” จึงต้องเปลี่ยนเป็น “สัทธรรม” แปลตามตัวว่า “เรื่องจริง”  นิทาน แปลว่า เล่าเรื่องให้ฟัง  นิทานชาดก แปลว่า เล่าเรื่องผู้เกิดในชาติก่อนให้ฟัง
คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุญาณพิเศษเรียกว่า “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” คือ ญาณรู้แจ้งเรื่องชาติก่อน  จึงทรงเล่านิทานชาดกให้พระสาวกฟัง เพื่อสอนธรรมให้เห็นของจริง  นอกจากนั้นยังทรงบรรลุญาณพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “จุตูปปาตญาณ” (จุติ+อุบัติ) คือญาณที่รู้แจ้งเรื่องการจุติ (ตาย) และอุบัติ (เกิด) ของสัตว์อื่น ว่าสัตว์นั้นชาติก่อนเกิดเป็นอะไร ตายไปเป็นอะไร แล้วเกิดมาชาตินี้ด้วยวิบากกรรมอันใด  พระญาณพิเศษสองอย่างนี้แหละ จึงทรงทราบย้อนหลังไปหลายแสนหลายล้านปีว่า พระองค์เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้างในชาตินั้นๆ  และทรงทราบว่าคนนั้นเคยเกิดเป็นอะไรในชาติก่อน ด้วยวิบากกรรมอันใด จึงเกิดมาในชาตินี้เป็นคนอายุสั้น, อายุยืน, รูปงาม, รูปชั่ว, สูงศักดิ์, ต่ำศักดิ์, มีปัญญาดี, มีปัญญาทราม, โรคมาก, โรคน้อย, รวย, จน,  เพราะกรรมจำแนกสัตว์ให้แตกต่างกันไปตามบุญกรรมของตนในชาติปางก่อน และกรรมในชาตินี้ประสมกัน ทำให้วิถีชีวิตผิดแผกแตกต่างกัน  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเล่านิทานชาดกไว้มากมาย ล้วนแต่ทรงเล่าจากเรื่องจริงในชาติปางก่อนทั้งหมดทั้งสิ้น... (*)

เทพ สุนทรศารทูล
        ๘ เมษายน ๒๕๓๘




* หมายเหตุผู้ทำบล็อก

การพิมพ์เผยแพร่หนังสือ "นิทานสัทธรรมคดี" ในบล็อกนี้ 
จะพิมพ์แต่เฉพาะส่วนร้อยกรองที่เป็นเรื่องชาดก ๔๖ เรื่อง 
อันเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเท่านั้นค่ะ