วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2558

๒. นิทานเรื่อง ม้าขาเขยก



๒ นิทานเรื่อง

ม้าขาเขยก


        มีนิทานชาดกท่านยกมา          พระศาสดาทรงเล่าแก่เหล่าสงฆ์
ว่าครั้งหนึ่งนานสุดพระพุทธองค์         เกิดเป็นองค์นักปราชญ์ราชครู

ครั้งนั้นพระราชาเลี้ยงม้าศึก              อึกทึกไม่น้อยนับร้อยคู่
เป็นม้าดีมีตระกูลชาติสินธู                เป็นม้ารู้สินธพขี่รบรับ

มีชายหนึ่งชำนาญการขี่ม้า               ฝึกอาชาใหญ่น้อยคอยกำกับ
แต่ตกม้าขาเกกเขยกยับ                  คอยบังคับจูงม้าอาชาทรง

แต่ต่อมาม้าทรงองค์กษัตริย์              เกิดข้องขัดขาเพลียเสียประสงค์
เดินโขยกเขยกไปมิใคร่ตรง              พระจึ่งสงสัยม้าว่าขาแพลง

สั่งให้หมอม้าตรวจสำรวจโรค            ขาโขยกหลายม้าเหมือนว่าแกล้ง
หรือปัจจาข้าศึกนึกระแวง                 เข้ามาแทงขาม้าอาชารัตน์

เมื่อหมอม้ามาตรวจสำรวจโรค           ขาโขยกเส้นสายภายในขัด
เอาน้ำมันนวดทายาชะงัด                 ยังเดินขัดข้องขาเวลาเดิน

พระราชาสงสัยพระทัยอยู่                 ยังไม่รู้เรื่องข้องมองผิวเผิน
มันเป็นเรื่องเหลือเชื่ออย่างเหลือเกิน   จึงเชื้อเชิญพระราชครูมาดูม้า

พระราชครูดูม้าตรวจตราทั่ว              ให้เรียกตัวคนเลี้ยงมาเรียงหน้า
ให้เดินดูท่วงทีกิริยา                       แลเห็นชายนายอาชาขาพิการ

จึงกราบทูลราชาว่าเรื่องง่าย              ให้หาชายองอาจชาติทหาร
มาเปลี่ยนคนเลี้ยงม้าไม่ช้านาน          อาชาชาญจักสง่าเป็นม้าทรง

พระราชาจึงให้ชายพิการ                  หยุดทำการเลี้ยงม้าไม่ประสงค์
แล้วให้หาชายชาติที่อาจอง              มาบรรจงจูงม้าอาชาไนย

สักเดือนหนึ่งต่อมาอาชาราช             เดินองอาจมั่นคงไม่สงสัย
มันเลียนแบบคนจูงหมายมุ่งใจ          มันรักใคร่คนเลี้ยงเพียงครูบา

คนเลี้ยงม้าขาเป๋คือเทวทัต               มาฝึกหัดเป็นครูอยู่ข้างหน้า
พระราชครูรู้เหตุเพศอาชา                คือตถาคตตรัสสอนสัทธรรม

ว่าคบใครก็เป็นเช่นคนนั้น                 คบพาลพลันพาวกลงตกต่ำ
คบบัณฑิตจิตย่อมจะน้อมนำ             ให้ก่อกรรมแต่กุศลเป็นคนดี

ลูกสาวเป็นเช่นแม่ที่แลเห็น              ลูกชายเป็นเช่นบิดาสง่าศรี
ศิษย์ก็เป็นเช่นครูผู้เมธี                    พระเหมือนชีบาต้นคนอาจารย์

นกแก้วพูดส่งเสียงสำเนียงใส            เหมือนคนใกล้พูดจาให้อาหาร
ผู้น้อยเหมือนหัวหน้าข้าราชการ         หมาในบ้านเหมือนเจ้าของครอบครองมัน

                                                   

(๓๐ คำ)   

๑๔ ธันวาคม ๒๕๓๒





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น