วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558

๒๕ นิทานเรื่อง คาถาศักดิ์สิทธิ์


๒๕ นิทานเรื่อง
คาถาศักดิ์สิทธิ์

     ๐ มีนิทานชาดกท่านยกมา           พระศาสดาทรงเล่าแก่เหล่าสงฆ์
ว่าคร้ังหนึ่งนานสุดพระพุทธองค์       เกิดเป็นพงศ์พราหมณ์าทิสาจารย์
อยู่ในตักศิลาพระอาวาส                   เชิงไกรลาศสูงใหญ่ในไพรสาณฑ์
มีศิษย์หามาเรียนหมุนเปลี่ยนกาล    มากประมาณห้าร้อยใหญ่น้อยมี
มีนาณพหนึ่งเพียรเรียนวิชชา           แต่ปัญญาทึบทึมอยู่ถึงที่
จึงต้องบอกคาถาคำบาลี                  มีอยู่สี่ห้าคำให้จำไว้
ให้หมั่นท่องภาวนาร้อยกว่าคาบ      จนซึบซาบในคำแล้วจำได้
"ฆะเฎสิ ฆะเฎสี" ดำริไป                  "กิงกะระณา" ว่าไว้ในใจตน
"อะหะงปิตตัง ชานามิ" สติกล้า       ภาวนาร้อยแปดพันเก้าหน
มาณพน้อยจำคาถาภาษาคน          หม่ั่นท่องบ่นภาวนาเป็นอาจิณ
วันหนึ่งกษัตราพาราณาสี               ยามราตรีเที่ยวท่องตามท้องถิ่น
เพื่อตรวจจับโจราในธานินทร์         พระได้ยินภาวนาคาถาดัง
ฝ่ายเจ้าโจรตัดช่องเข้าย่องเบา      ได้ยินเข้าก็ค่อยเดินถอยหลัง
ไม่กล้าเข้าตัดช่องจ้องจังงัง           เพราะได้ฟังคาถาของมาณพ
พระราชาทรงคิดศักดิ์สิทธิ์นัก         อยากรู้จักว่าใครใคร่ประสบ
เรียกเจ้าของคาถาน้ันมาพบ           โดยเคารพเรียนคาถาสำคัญ
ฝ่ายเสนาบดีมีพยศ                         คิดขบถเป็นใหญ่ดังใฝ่ฝัน
จึงจ้างช่างกัลบกยกรางวัล             ใช้มีดควั่นคอราชาอย่าช้าที
ถ้าตนได้เป็นใหญ่ดังใจหวัง           จะแต่งตั้งกัลบกยกหน้าที่
ให้เลื่อนชั้นได้ว่าเสนาบดี               ช่างคนนี้รับฆ่าราชาพลัน
เมื่อตนมีโอกาสตัดเกศา                 จึงตั้งท่าเชือดคอไม่รอนั่น
พระราชาท่องบ่นมนต์สำคัญ           "ฆะเฎสิ" บทนั้นขึ้นทันที
กัลบกตกประหม่าจนตาขาว            จนถึงหนาวสะท้านสัน่เต็มที่
กราบพระบาทจอมเกล้าเจ้าชีวี        พระจงมีอภัยโทษโปรดเมตตา
แล้วสารภาพกราบทูลถึงมูลเหตุ     จงเนรเทศไปพลันอย่าฟันฆ่า
พระราชาทรงพระกรุณา                  งดอาญากัลบกยกโทษทัณฑ์
ส่วนเสนาบดีที่คิดคด                      ก็ทรงงดโทษฆ่าให้อาสัญ
เนรเทศให้ไปเสียไกลครัน              ส่วนช่างกัลบกบ้าไม่ว่าไร
มาณพน้อยเจ้าของท่องคาถา        พระราชาเรียนท่องจนผ่องใส
พระคาถาช่วยรอดให้ปลอดภัย       จึงยกให้ขึ้นว่าเสนาบดี
มาณพน้อยน้ันไซร้ใช่ใครเล่า         ลูกศิษย์เราชาติก่อนขจรศรี
มาเกิดเป็นจูฬบันถกในยกนี้           พระฤาษีคือเราจงเข้าใจ ฯ   (๓๒ คำ)

                                                                  ๑๒  ม.ค. ๓๓ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น